โรคอัลไซเมอร์ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1906 โดยนายแพทย์ Alois Alzheimer ชาวเยอรมัน อัลไซเมอร์เกิดจาก การตายของเซลล์ประสาทที่ไม่มีการสร้างเซลล์ใหม่มาทดแทน จึงทำให้เซลล์สมองค่อยๆ เสื่อมลง จนมีผลกระทบต่อการรับรู้ต่างๆ
จากผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี จะพบผู้ที่ทีอาการสมองเสื่อมคิดเป็น 1% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 5 ปี นั่นคือยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเสี่ยงเป็นภาวะสมองเสื่อมยิ่งเพิ่มตาม โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด อาการของโรคจึงค่อยๆ รุนแรงขึ้นตามระยะเวลาการป่วย โรคนี้สามารถเกิดได้ทั้งหญิงและชาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป
อาการทั่วไปของผู้เป็นโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่ ความบกพร่องทางความจำ ความคิดและการใช้เหตุผล เช่น หลงลืมสิ่งของที่ใช้เป็นประจำ นึกคำหรือประโยคที่พูดไม่ออก สับสนเรื่องเวลาและสถานที่ จำบุคคลที่เคยรู้จักหรือคุ้นเคยไม่ได้ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว และสุดท้ายมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านได้อย่างเหมาะสม ทั้งๆ ที่เคยใช้เป็นประจำ ไม่สามารถไปสถานที่ที่คุ้นเคย เป็นต้น
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แน่ชัด มีเพียงปัจจัยที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งนอกจากขึ้นอยู่กับอายุ ก็ยังมีประเด็นของพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยทางพันธุกรรม เป็นสิ่งที่พิสูจน์และมั่นใจไม่ได้ 100% แต่มีรายงานและผลวิจัยต่างๆ ว่า หากคนใกล้ชิดในครอบครัวเป็นโรคอัลไซเมอร์ โอกาสที่คุณจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็มีมากกว่า คนที่ไม่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้ อีกทั้งมีครอบครัวน้อยรายมาก ที่ระบุว่าสมาชิกในครอบครัวรุ่นก่อนๆ เป็นอัลไซเมอร์และถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรมโดยตรงสู่รุ่นต่อมาด้วยสาเหตุที่ยีนเกิดกลายพันธุ์ ซึ่งอาจทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่อายุยังไม่มาก นอกจากนี้สำหรับคนที่เป็นดาวน์ซินโดรม อายุประมาณ 40-50 ปี ก็มักจะเป็นโรคอัลไซเมอร์เช่นกัน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์หาก..
- คุณปู่ คุณย่า คุณตาหรือคุณยาย เป็นอัลไซเมอร์เพียงคนเดียว
- คุณพ่อคุณแม่ เป็นอัลไซเมอร์เมื่ออายุ 65 ปี
- คุณพ่อคุณแม่เคยเป็นโรคเมื่ออายุ 65 ปี และตอนนี้อายุตนเองเลย 65 ปีแล้ว
ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม หลายปีที่ผ่านมาเกิดความสงสัยและเชื่อว่า อลูมิเนียมอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันอีกต่อไป แต่คนที่ศีรษะเคยได้รับบาดเจ็บหรือโดนกระแทกอย่างแรง มีโอกาสสูงที่จะมีภาวะสมองเสื่อม ยกตัวอย่างเช่น นักชกมวย ที่โดนต่อยบริเวณศีรษะบ่อยและต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนี้คนที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์หนัก ความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวานและโคเลสเตอรอลสูง ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์สูงเช่นกัน
ขั้นตอนในการรักษา
พญ.สิรินทร ฉันทศิริกาญจน ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ อายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าวว่า การวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้นต้องดูจากประวัติการหลงลืมและความผิดปกติอื่นๆ หากมีลักษณะอาการเด่นชัดก็จะทำการวินิจฉัยขั้นต่อไป หากไม่จะติดตามดูอาการระยะหนึ่ง พร้อมกับตรวจด้วยการเอกซเรย์พิเศษเพื่อดูการใช้ออกซิเจนและการใช้พลังงานของสมอง หลังจากการตรวจสามารถให้ยาเพื่อช่วยชะลอการสูญเสียความจำของผู้ป่วยให้ช้าลง สามารถดูแลตนเองและทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้นานขึ้น ทั้งนี้ไม่สามารถรักษาให้กลับมาจำได้ดีเท่าเดิม
ดังนั้นหากสงสัยว่าคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอาการเช่นนี้ ควรรีบนำมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจ ทดสอบสมรรถภาพของสมอง เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป และที่สำคัญไม่ควรพึ่งยาหม้อ ยาสมุนไพร หรือเกจิอาจารย์ต่างๆ มิฉะนั้นจากเดิมที่อาการไม่รุนแรง จะกลายเป็นมากขึ้น ก่อให้เกิดความทุกข์ต่อตัวผู้ป่วยและคนดูแล
วิธีลดปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์
แม้ว่าโรคอัลไซเมอร์จะรักษาไม่หาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีแนวทางป้องกัน ซึ่งมีรายงานจากต่างประเทศอ้างว่า การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยผู้ทำการวิจัยและทดลองคือ ดอกเตอร์ อีริค บี ลาร์สัน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพในซีแอตเติล ดอกเตอร์อีริคได้ทำการทดลองตั้งแต่ปีค.ศ. 1994 ถึง ค.ศ. 2003 โดยการเลือกชายหญิงอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 1,740 คน ซึ่งมีรูปร่าง สภาวะทางจิตใจและการดำเนินชีวิตหลากหลาย แต่ทุกคนไม่มีอาการของโรคหรือได้รับการรักษา ณ ขณะนั้น
ทุกๆ 2 ปี ทางดอกเตอร์อีริคและคณะจะสัมภาษณ์กลุ่มผู้สูงอายุนี้ทีละคน เพื่อประเมินกิจกรรมที่ปฏิบัติต่อสัปดาห์ เช่น การเดิน การยืน การออกแรงกำสิ่งของ การทรงตัว ความจำ สมาธิ การสูบบุหรี่ การดื่มและการรับประทานอาหาร และจากการศึกษาตลอดพบว่า ผู้สูงอายุที่ออกกำลังกายเป็นประจำตั้งแต่เริ่มการทดลอง ด้วยการเดิน 15 นาทีต่อ 1 วัน สัปดาห์ละ 3 ครั้ง สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ถึง 32% เมื่อเทียบกับคนที่ออกกำลังกายน้อยกว่านั้น
สุดท้ายดอกเตอร์อีริคกล่าวเพิ่มเติมจากผลการทดลองนี้ว่า น่าจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้คนอื่นๆ หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์แล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการเผาผลาญออกซิเจนให้เป็นพลังงานแก่ร่างกาย ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ชะลอความแก่ชราได้หากเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย
แหล่งข้อมูล : นิตยสาร – HealthToday