เมื่อผู้สูงอายุอาเจียน

เมื่อผู้สูงอายุอาเจียน

เมื่อผู้สูงอายุอาเจียน 800 533 admin

การอาเจียน (Vomiting) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีความ-ผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร โดยจะมีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน เป็นกันได้ทุกวัย ทั้งในเด็ก คนวัยหนุ่มสาว และคนสูงอายุ ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้ต้องการ การดูแลมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นวัยที่อ่อนแอ เปราะบาง และส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัวทางอายุรกรรมร่วมด้วย
ตามปกติแล้วสาเหตุที่พบได้บ่อยที่ทำให้เกิดอาการอาเจียน คือการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาจจะเกิดการติดเชื้อได้ตั้งแต่ในกระเพาะอาหารจนถึงลำไส้ใหญ่ ซึ่งต่อไปนี้มักจะเป็นสาเหตุของการอาเจียนที่พบบ่อย

  1. อาหารเป็นพิษจากการมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน ซึ่งอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย
  2. การรับประทานอาหารในหน้าร้อนนี้ จึงควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ
  3. โรคกระเพาะ หรือกระเพาะอาหารอักเสบ
  4. อาเจียนจากการไอมากๆ
  5. เกิดการอุดตันในลำไส้
  6. เกิดจากโรคบางโรค
  7. อาเจียนหลังจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
  8. เป็นผลข้างเคียงของยาบางชนิด หรือแพ้ยา ซึ่งควรกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้จ่ายยาหรือพบแพทย์ประจำตัว
  9. เมาพาหนะ เช่น เมารถ เมาเรือ
  10. อยู่ท่ามกลางอากาศร้อนมาก
  11. เกี่ยวเนื่องจากระบบประสาท เช่น มีความเครียดมาก ตื่นเต้น หรืออยู่ในภาวะกดดัน

การอาเจียนยังเป็นอาการของโรคอื่นๆ อีกหลายๆ โรค เช่น โรคที่เกี่ยวกับสมอง ตับ ไต รวมถึงโรคมะเร็งด้วย ซึ่งหากเป็นมากกว่า 1 ครั้ง ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเกิดอาเจียนจำเป็นจะต้องระมัดระวังเรื่องของอาการ ขาดน้ำ (dehydration) เป็นสำคัญ โดยเฉพาะในคนอ่อนแออย่างคน สูงอายุ ซึ่งเมื่อมีอาการขาดน้ำและอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้ต้องรีบพาไปพบแพทย์

  1. รอบดวงตาคล้ำ
  2. ปากแห้ง
  3. ปัสสาวะน้อยลง
  4. ผิวหนังแห้งและไม่ดีดตัวกลับเมื่อคุณหยิกหรือจิกลงไประหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้
  5. รู้สึกเวียนงง และสับสน
  6. มีไข้สูงกว่า 101 ํ F นานกว่า 24 ชั่วโมง
  7. ความดันโลหิตสูงขึ้นหรือลดลงอย่างมาก
  8. อ่อนเพลียมาก
  9. อาเจียนมากไม่หยุด และปวดท้องรุนแรง
  10. อาเจียนในขณะที่เป็นเบาหวาน
  11. ผิวซีดเหลือง รวมทั้งตาขาวเป็นสีเหลืองด้วย
  12. อาเจียนเป็นเลือด หรือสีเหมือนน้ำกาแฟ

แต่ในกรณีที่มีสาเหตุที่ไม่รุนแรงหรือได้รับการวินิจฉัยรักษาจากแพทย์แล้ว หลังจากมีอาการดีขึ้นแล้วลูกหลานหรือผู้ดูแลควรให้การดูแลผู้สูงอายุดังนี้

  1. ให้งดรับประทานอาหารใดๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อให้กระเพาะได้พัก แต่ให้ค่อยๆ จิบน้ำเปล่าได้ เมื่อไม่มีอาการคลื่นไส้
  2. เมื่อหายจากอาการคลื่นไส้ให้เริ่มต้นด้วยอาหารอ่อนๆ เช่น ซุปใส เยลลี่ น้ำโซดาเปล่าๆ แต่อย่าดื่มเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม
  3. ในวันต่อมาให้รับประทานอาหารอ่อนนุ่ม เช่น ข้าวต้ม กล้วยสุก ซุป และควรรับประทานในปริมาณน้อย แต่บ่อยครั้ง ลองดูว่ากระเพาะรับได้หรือไม่ อย่ารับประทานครั้งและมากๆ
  4. พักผ่อนให้มากๆ ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก อากาศเย็นสบาย
  5. อย่าดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
  6. หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ บุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โคคา-โคล่า เพราะจะระคายเคืองกระเพาะอาหาร
  7. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง

การอาเจียนเป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติที่เกิดขึ้น จึงอย่าชะล่าใจโดยเฉพาะในผู้สูงวัย ดูแลใส่ใจท่านอย่างใกล้ชิด แม้หายอาเจียนแล้วก็ยังต้องคอยดูอาการต่อไปอีกระยะหนึ่ง

แหล่งข้อมูล : นิตยสาร – HealthToday

Back to top