คุณที่เคยเข้าโรงพยาบาลนานๆ หรือมีญาติผู้ใหญ่ที่มีเหตุให้ต้องนอนอยู่กับที่ อย่างเช่น เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือไม่สบายมากจนไม่มีแรงจะลุกขึ้นจากที่นอน คงจะเคยได้ยินแพทย์หรือพยาบาลเตือน ให้ผู้ดูแลหมั่นพลิกตัวให้บ่อยๆ ไม่ให้จมอยู่กับที่นานๆ เพราะจะเกิดแผลที่เรียกว่า “ แผลกดทับ ” ได้
การจะสังเกตว่าบริเวณไหนที่เริ่มเป็นแผลกดทับ สังเกตได้จากลักษณะดังนี้
- เป็นรอยแดงๆ ที่เมื่อกดเบาๆ ตรงนั้นจะไม่เปลี่ยนเป็นสีขาว
- ที่ผิวเป็นรอยเหมือนเป็นหลุมปากปล่องภูเขาไฟ
- เป็นแผลพุพอง หรือเป็นรอยดำๆ ที่ดูคล้ายแผลตกสะเก็ด
คนที่มีความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ
คืออย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเป็นคนที่อยู่กับที่นิ่งๆ นานๆ ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว โดยเฉพาะในผู้ที่สูงอายุมากๆ ที่เคลื่อนไหวยาก บางคนคิดว่าการเกิดแผลกดทับจะเกิดเฉพาะกับคน ที่มีน้ำหนักตัวมากๆ เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นเสมอไป แผลกดทับไม่จำเป็นต้องเกิดจากแรงกดมากมาย เพียงแต่การนอนแช่ในท่าหนึ่งท่าใดนานๆ ก็เกิดได้แล้ว หรือคนที่นั่งนิ่งๆ อยู่กับเก้าอี้ทั้งวันไม่ค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้เกิดแรงกดดันกับเนื้อเยื่ออ่อนๆ บริเวณก้นหรือสะโพก แล้วจะเกิดเป็นแผลพุพอง เนื้อเยื่อหลุดลอกตามมา
ในกรณีที่นอนแผ่ราบไปกับเบาะที่นอน สมมติว่านอนหงาย การที่จุดใดจุดหนึ่งบริเวณแผ่นหลัง จะต้องเสียดสีกับที่นอนซ้ำแล้วซ้ำอีกก็จะทำให้บริเวณนั้นเป็นแผลพุพองได้ และเมื่อแผลพุพองนั้นแตกออกก็จะกลายเป็นแผลกดทับ หนำซ้ำกับการที่ผู้สูงอายุมักจะมีผิวที่หย่อนยาน เสียความยืดหยุ่น ไปแล้วจึงยิ่งทำให้ไวต่อการเสียดสีเกิดเป็นแผลได้ง่าย หากผิวบริเวณนั้นชื้น เปียกชุ่มเหงื่ออยู่เสมอก็ยิ่งเป็นโอกาสให้เกิดการพุพองง่ายยิ่งขึ้น
ผลที่ตามมาของการเกิดแผลกดทับ
ที่แน่ๆ แม้จะไม่ติดเชื้อก็ย่อมทำให้เกิดความเจ็บ ดังนั้นหากใครที่ดูแลผู้สูงอายุแล้วพบว่าผิวของผู้นั้นมีรอยแดงๆ เริ่มพอง หรือรอยดำๆ คล้ำๆ แล้วควรรีบป้องกันไม่ให้แผลลุกลามเสียแต่เนิ่นๆ อย่างแรกที่ควรทำคือ การปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล หากแผลนั้นเกิดมากแล้วอาจจะมีอันตรายมากถ้าแผลเกิดติดเชื้อขึ้นมา มีโอกาสก่อให้เกิดเลือดเป็นพิษ หรือการติดเชื้อที่ผิวไปจนถึงกระดูกอันเนื่องมาจากแผล แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อระงับเชื้อ และแนะนำวิธีทำความสะอาดตลอดจนการปฐมพยาบาลแผลที่ถูกวิธีให้
การดูแลตัวเอง หรือผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเองไม่ได้เพื่อป้องกันแผลกดทับ
- ใช้เบาะที่นอนที่มีแรงดันต่ำ เช่น ที่นอนฟองน้ำ ที่นอนที่ทำจากแผ่นโฟม เตียงน้ำ เตียงลม หรือเตียงที่บุด้วยเนื้อเจล ซึ่งช่วยลดแรงต้านเมื่อมีแรงกดทับจากการนอนหรือนั่ง
- ไม่ควรใช้ที่รองนั่งรูปแบบห่วงยาง เพราะจะไปลดการไหลเวียนของเลือดบริเวณผิวหนังในส่วนที่ถัดออกมาจากตรงกลางของห่วง เวลาคนนั่งจมลงไปกลางห่วง
- ควรขยับตัวเปลี่ยนท่านอนอย่างน้อยทุกๆ 2 ชั่วโมง เพื่อลดแรงกดดันที่ผิวหนัง ไม่ให้ผิวสัมผัสต้องจมและเสียดสีอยู่กับที่ใดที่หนึ่งนานๆ
- หากเป็นไปได้ควรนอนในท่าที่ทำมุมประมาณ 30 องศากับพื้นที่นอน เพื่อหลีกเลี่ยงแรงเสียดสีบริเวณข้อเท้า ส้นเท้า สะโพก และหลังส่วนล่าง
- หากเป็นท่านั่ง อาจนั่งทำมุมเอียงๆ เล็กน้อยกับเก้าอี้ เพื่อลดแรงกดดันและเสียดสีบริเวณสะโพก
- การรับประทานอาหารที่ครบคุณค่า มีประโยชน์แก่ร่างกาย และดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ บ่อยๆ ต่อวัน เป็นวิธีการที่ช่วยให้แผลเยียวยาตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
- หากบริเวณรอยแดงๆ ที่เป็นไม่ยอมหายไปสักทีแม้จะทำตามวิธีป้องกันแล้วก็ตาม หรือผู้ที่เป็นแผลเกิดมีไข้แผลเป็นสีแดงเข้มขึ้น
เกิดหนอง หรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากแผล มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ มีอาการบวม และเจ็บปวดมากขึ้น อย่างหนึ่งอย่างใดเหล่านี้ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเป็นอาการของการติดเชื้อที่แผลได้
ในการดูแลคนที่เป็นแผลกดทับอย่างนี้ผู้ดูแลควรสวมถุงมืออนามัยที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคมาแล้วทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียมาสู่แผลด้วย
แหล่งข้อมูล : นิตยสาร – HealthToday