เวลาไปโรงพยาบาลเคยสังเกตกันบ้างไหมคะว่า แผนกใดที่มีคนมารอพบแพทย์มากที่สุดรองลงมาจากแผนกอายุรกรรม ดิฉันคิดว่าน่าจะเป็นแผนกศัลยกรรม-กระดูก ซึ่งมีคนมารอกันอย่างหนาแน่น เผลอๆ ต้องนั่งรอกันครึ่งค่อนวันกว่าจะได้ตรวจ แน่นอนที่คนส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงวัย บ้างก็เดินกระย่องกระแย่งใช้ไม้เท้าช่วย บ้างก็นั่งรถเข็น เห็นแล้วก็คิดได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังขารที่ร่วงโรยไปตามวัย แต่อาการปวดที่ตามมานี่สิที่ทำใจยอมรับยาก ทำให้รู้สึกเห็นใจผู้สูงอายุมาก
โดยส่วนใหญ่อาการปวดเมื่อยในผู้สูงอายุจะเป็นกันมากบริเวณ หลัง คอ เอว น่อง และข้อต่างๆ ฯลฯ เรียกได้ว่าแทบจะปวดเมื่อยไปทั้งตัว ซึ่งอาการปวดเมื่อยที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดเมื่อยล้าที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อ…ซึ่งมักจะบอกตำแหน่งเจาะจงไม่ชัด ปวดจากเส้นเอ็น…จะปวดมากหากถูกกดทับหรือขยับตัวเคลื่อนไหว พบบ่อยบริเวณไหล่ บริเวณมือ ส้นเท้า และเอ็นร้อยหวาย ปวดจากเส้นประสาทถูกกดทับ…มักมีอาการชา ปวดแสบปวดร้อน ร้าวไปตามเส้นประสาท เช่น ถ้าเกิดการกดทับที่เส้นประสาทหลังจะปวดร้าวลงไปถึงน่องและปลายเท้า หรือบริเวณคอเมื่อเส้นประสาทถูกทับจะปวดร้าวลงไปที่แขนและมือ นอกจากนี้ยังมีการปวดเมื่อยเนื่องจากเส้นเลือดขอด…พบบ่อยบริเวณขาเมื่อต้องยืนนานๆ อาการปวดจากข้อต่อต่างๆ… เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ถ้ามีการลงน้ำหนักก็จะปวด เดินก็ปวด พับหรืองอก็ปวด และอาจมีบวมแดงร่วมด้วย
นอกจากนั้นสาเหตุของอาการปวดเมื่อยนี้ยังมาจาก
- เริ่มมีการอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณรอบๆ ข้อ แล้วไม่ยอมใช้ส่วนนั้นนานๆ เพราะกลัวเจ็บ
- ยกของหนักเกินไป และยกในท่าที่ไม่ถูกต้อง ทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาด อักเสบหรือปวดได้
- เกิดจากการนอน เช่น นอนหนุนหมอนที่สูงเกินไป ที่นอนนิ่มไป นอนตะแคงแล้วศีรษะห้อยลง หรือบิดทำให้ปวดต้นคอ ปวดหลัง
- การปล่อยตัวให้อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น นั่ง ยืน เดิน ศีรษะงุ้มไปด้านหน้า เงยมากเกินไปหรือเอนไปด้านใดด้านหนึ่งนานๆ ทำให้รู้สึกปวดเมื่อย
- เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น การหกล้ม ถูกกระแทกแรงๆ ทำให้กระดูกหัก กล้ามเนื้อฉีกขาดหรือเกิดการอักเสบ ทำให้ปวดเมื่อยได้
- เกิดจากโรคบางโรค เช่น โรคเกาต์ รูมาตอยด์ การขาดสารอาหารประเภท ฯลฯ
สรุปอาการปวดเมื่อยเรื้อรังของผู้สูงอายุว่าเป็นที่ใดกันมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นการปวดหลัง เอวที่เกิดขึ้นตามวัยเพราะข้อรับน้ำหนักตัวมากเกินไปหรือมีการบาดเจ็บ ทำให้กระดูกอ่อนตรงผิวข้อต่อสึกกร่อน และมีกระดูกงอก เพราะมีหินปูนมาเกาะขรุขระ เวลาเคลื่อนไหวจึงทำให้ปวดได้ และถ้าเป็นโรคกระดูกพรุนก็จะทำให้กระดูกเกิดการทรุดตัว โดยเฉพาะกระดูกไขสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกคอ อาการปวดส่วนหลังนี้จะทรมานมาก เพราะคนเราต้องใช้ขาเดินไปไหนมาไหน หากเดินแล้วเจ็บ คงรู้สึกอึดอัดและลำบากพอสมควร ดังนั้นในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกหลังเสื่อม แพทย์จึงแนะนำให้ใช้ ผ้า support ช่วยพยุงแผ่นหลัง ในบางคนการใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวเดินก็จะลดการรับน้ำหนักของกระดูกลงไปได้บ้าง ส่วนการปวดข้อมักจะปวดมากเวลาเปลี่ยนท่า นั่ง ยืน การขึ้นลงบันได หรือมักปวดตอนกลางคืน ปวดเวลาที่อากาศเย็นชื้น หรืออากาศเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีอาการปวดเนื่องจากการทำกิจวัตรประจำวันด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น
- นั่งหลังค่อมเกินไป เนื่องจากก้มหน้ามากเกินเวลานั่งอ่านหนังสือ หรือนั่งทำงานที่โต๊ะ จึงทำให้บริเวณอกค่อมลง
- การเดินแอ่นหลังบริเวณช่องท้องมากเกินไป โดยเฉพาะคนอ้วนลงพุงที่เวลาเดินต้องแอ่น เพื่อดึงพุงซึ่งย้อยตกลงข้างหน้าตลอดเวลา
- แบกของหนักเกินไป จนทำให้ข้อกระดูกสันหลังรับน้ำหนักมากจนโก่ง รวมถึงการก้มหลังยกของหนักเกินไป
โดยอาการเหล่านี้ส่งผลทำให้เอ็น และกล้ามเนื้อบริเวณหลังต้องออกแรงยืดหดมากไป ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า จนทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ในที่สุด หากเทียบกับคนหนุ่มสาวที่บางครั้งทำกิจวัตรประจำวันด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน แต่ไม่มีอาการปวดหลังก็เพราะเอ็นและกล้ามเนื้อยังอยู่ในสภาพที่แข็งแรงจึงทนได้ แต่ผู้สูงอายุตรงกันข้าม ทั้งเอ็นและกล้ามเนื้อเริ่มเสื่อมสภาพ จึงปวดเมื่อยได้ง่าย หากอาการปวดไม่รุนแรงก็จะปวดแบบเมื่อยล้าทั่วๆ ไป อยากบิดตัวและเปลี่ยนท่าทางอยู่เสมอ แต่หากปวดมากขึ้นก็ต้องหายามาทาน อาการปวดจึงจะหายไป บางรายเป็นมากและเฉียบพลัน ทั้งปวดหลัง รู้สึกหลังแข็งขนาดกระดุกกระดิกไม่ได้ต้องนอนนิ่งๆ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ทรมานกับการปวดหลังแล้ว ก็ควรหาทางป้องกันง่ายๆ ดังนี้
- พยายามเดิน-นั่ง หรือปรับอิริยาบถต่างๆ ให้อยู่ในท่าทางที่ถูกต้องเสมอ ที่สำคัญนั่ง-เดิน ให้หลังตรง
- ผู้สูงอายุอย่าก้มหลังลงเพื่อยกของหนักเด็ดขาด และอย่าแบกหรือยกของหนักเกินสมควร
- สำรวจที่นอนว่าต้องไม่นุ่ม หรือแข็งจนเกินไป เพราะที่นอนที่นุ่มเกิน เมื่อนอนหงายหลังจะโก่ง และจะทำให้ปวดหลัง ส่วนที่นอนที่แข็งเกินไปจะทำให้เจ็บบริเวณกระดูกที่นูนออกมา เนื่องจากโดนกดทับเป็นเวลานาน
- หากรู้สึกปวดเมื่อยหลังเล็กน้อย ให้เอากระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่ปวดวันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 10-20 นาทีทุกวัน ประมาณ 5-6 วัน อาการจะดีขึ้น แต่หากปวดมากให้ไปพบแพทย์
นอกจากนี้ ยังมีการปวดข้อต่างๆ ที่ผู้สูงวัยเป็นกันมาก เนื่องจากข้อเสื่อมและกระดูกพรุนซึ่งมักเกิดกับข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเข่า พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากเป็นผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ขาดไป สาเหตุของโรคกระดูกพรุน อีกทั้งขาดการออกกำลังกายในวัยหนุ่มสาว พอเริ่มอายุมากน้ำหนักก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้เข่าต้องแบกน้ำหนักส่วนเกิน กล้ามเนื้อจึงหย่อนสมรรถภาพลง จึงทำให้เป็นโรคเข่าเสื่อมได้ง่าย โดยร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนให้เรารู้ว่าเข่ากำลังมีปัญหาจาก…
- การเจ็บปวด ซึ่งแรกๆ จะปวดไม่มาก รู้สึกเพียงขัดๆ ตำแหน่งที่ปวดก็ไม่ชัดเจนว่าปวดที่ใดแน่ รู้แต่ว่าปวดที่เข่า แต่ยังเดินไปไหนมาไหนได้ อาการจะปวดมากขึ้นเมื่อใช้เข่ามาก แต่จะรู้สึกสบายเมื่อได้พัก ระยะนี้จะไม่มีอาการกดเจ็บที่ใด และไม่มีอาการบวมให้เห็น หากทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการดุแล หรือยังคงได้รับแรงกระแทกหรือน้ำหนักมากอยู่เช่นเดิม อาการปวดก็จะเพิ่มมากขึ้นจนเดินไม่ได้
- อาการเข่าบวม มักพบเมื่อเข่าเสื่อมมาก และได้รับการกระทบกระเทือนสูง เข่าจะบวมอย่างเห็นได้ชัดและปวดที่หัวเข่ามากขึ้น อาการบวมจะเป็นๆ หายๆ หากได้รับการรักษาอาการบวมก็จะดีขึ้น แต่พอใช้งานเข่ามากขึ้นก็จะบวมอีก
- เข่าอ่อนหรือเข่าฝืด มักเป็นในระยะแรกๆ ที่เข่ายังไม่บวม เวลานั่งแล้วจะลุกขึ้นไม่ได้ เพราะเข่าอ่อนและเหยียดไม่ออก จะต้องค่อยๆ พยุงตัวขึ้นช้าๆ ก่อนจึงจะลุกขึ้นได้ อาการดังกล่าวจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายบางรายเข่าจะผิดรูป เข่าโก่งเหมือนก้ามปู
อย่างไรก็ตาม อาการข้อเสื่อมนี้ ก็ใช่ว่าจะป้องกันไม่ได้ซะทีเดียว ที่สำคัญไม่ควรปล่อยให้เป็นมากแล้วค่อยไปหาทางรักษา เพราะจะรักษายาก โดยทำตามคำแนะนำดังนี้
- ระวังอย่าให้อ้วน หรือน้ำหนักมากเกินปกติ โดยดูจากความสมดุลระหว่างน้ำหนักและความสูง
- ระวังอย่าให้หัวเข่าได้รับแรงกระแทกมากเกินไป เช่น การกระโดดโลดเต้น ดังนั้นคนที่เข่าเสื่อมไม่ควรออกกำลังกายโดยการวิ่งหรือกระโดดเชือก แต่พยายามออกกำลังเข่าที่ให้กล้ามเนื้อและเอ็นรอบเข่าแข็งแรง เช่น การเดินในท่าปกติก็เป็นการออกกำลังเข่าที่ดีอย่างหนึ่ง
- อย่าให้เข่าต้องอยู่ในภาวะกดพับนานเกินไป เช่น การนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ และนั่งยอง
- เมื่ออายุมากขึ้น
ไม่ว่าใครก็ไม่อยากแก่ และเจ็บป่วยทั้งนั้น แต่เนื่องจากไม่สามารถฝืนกฎธรรมชาติได้ ดังนั้นเราก็ได้แต่ดูแลรักษาร่างกายตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ พร้อมป้องกันและรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดในวันข้างหน้า เพราะหากจะเป็น ก็ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ร่วมสร้างสุขภาพที่ดี และเอาใจใส่ตัวเองเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ร่างกายทำหน้าที่ได้ดี และอยู่กับเราไปอีกนานๆ
แหล่งข้อมูล : นิตยสาร – HealthToday