ผู้สูงอายุ

โรคที่พบในผู้สูงอายุ

โรคที่พบในผู้สูงอายุ 1000 667 admin

โรคที่พบในผู้สูงอายุนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดมา ตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว แต่ไม่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ บางโรคเกิดเนื่องจาก ความเปลี่ยนแปลงของ การบริโภคอาหาร ภายหลังจากเกษียนอายุราชการ โรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ โภชนาการในอดีตหรือปัจจุบัน ได้แก่

โรคอ้วน
อ้วนนับเป็นโรคอย่างหนึ่ง ที่เกิดจากการสะสมของพลังงาน ที่ได้จากอาหารที่รับประทาน เกินความต้องการของร่างกาย และมีการเก็บสะสมไว้ ในรูปของไขมันในระยะนานเข้า ก็จะปรากฏให้เห็น ด้วยการมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จากเดิมทีละน้อยๆ อายุที่เพิ่มขึ้น มีโอกาสมีน้ำหนักตัวเพิ่มอยู่แล้ว เพราะการใช้แรงงานน้อยลง การรับประทานอาหารยังคงเดิม ดังนั้น ถ้าไม่ควบคุมการรับประทานอาหาร โอกาสอ้วนย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่การเป็นโรคอื่นๆ อีกหลายโรค เช่นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเกี่ยวกับข้อ ฯลฯ คนทั่วๆ ไปจะมีการเปลี่ยนแปลง น้ำหนักตัว และสังเกตเห็นว่า เริ่มอ้วนเมื่ออายุประมาณ 35-40 ปี ถ้าให้ความสนใจต่อสุขภาพ ระวังน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ปัญหาของโรคต่างๆ ที่จะเกิด ย่อมน้อยลงได้ หรือเมื่อมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานแล้ว ต้องพยายามควบคุมอาหาร จัดอาหารที่ให้คุณค่าอาหารสูง แต่พลังงานต่ำ เพื่อช่วยลดน้ำหนักลง ก็เป็นการช่วยลด ปัญหาสุขภาพได้อีกทางหนึ่ง

โรคโลหิตจาง
บางครั้งเราเรียกว่า โรคซีด โรคโลหิตจางเกิดได้ เนื่องจากการรับประทานอาหาร ที่ขาดธาตุเหล็กมาในระยะเวลานาน หรืออาจเกิดจากการสูญเสียเลือด ในปริมาณที่ไม่มากนัก จนไม่สามารถตรวจพบ แต่เกิดเรื้อรังมาเป็นเวลานาน เช่น เลือดออกในลำไส้ หรือกระเพาะอาหาร เป็นต้น โรคนี้ทำให้ผู้สูงอายุซีด ร่างกายอ่อนเพลีย ความต้านทานโรคน้อยลง ทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น การจัดอาหารที่มีเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ให้รับประทานเป็นประจำ เพื่อให้ได้รับเหล็กที่เพียงพอ

โรคหัวใจและหลอดเลือด
สถิติของการเกิดโรคนี้มากที่สุด ในช่วงอายุ 45 ปี ความรุนแรงจะมากขึ้น ถ้าไม่ได้รับการรักษา และดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง เพราะสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรค คือ การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง เกินความต้องการของร่างกาย และการเลือกรับประทานที่ไม่เหมาะสม เช่น อาหารที่มีไขมันสูง โคเลสเตอรอลสูง รวมถึงการสูบบุหรี่ และการขาดการออกกำลังกาย การป้องกันโรคนี้ ควรเริ่มเมื่อก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้น หนังเป็ด หนังไก่ เครื่องในสัตว์ กะทิ เป็นต้น งดการสูบบุหรี่ และมีการออกกำลังกายเป็นประจำ

โรคเบาหวาน
ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ เป็นผู้ที่มีน้ำหนักตัว มากกว่ามาตรฐาน ในช่วงอายุเกิน 50 ปี ผู้สูงอายุที่ชอบรับประทานน้ำตาลมากๆ พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น มากกว่าคนหนุ่ม-สาว และลดระดับคืนสู่ปกติได้ช้า โรคเบาหวานพบในผู้สูงอายุ ที่มีการเกิดโรคนี้ในครอบครัว การรับประทานอาหารมากและอ้วน การเป็นโรคนี้จะนำไปสู่ การเป็นโรคหลอดเลือดแข็ง และอุดตันได้ง่าย และเป็นสาเหตุการตายของผู้สูงอายุ เป็นโรคเบาหวานด้วย ดังนั้น การควบคุมน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ให้อ้วน เป็นทางหนึ่งที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคได้

โรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ
ผู้สูงอายุ มีการเสียสมดุลของฮอร์โมน ทำให้การเผาผลาญอาหารในร่างกายผิดปกติ การดูดซึมสารอาหาร และแร่ธาตุโดยเฉพาะ แคลเซียมเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การเกิดโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่พบมากในผู้สูงอายุ ที่ทำให้กระดูกเปราะและหักได้ง่าย เกิดมากในผู้หญิงอายุเกิน 50 ปี และผู้ชายอายุเกิน 60 ปี การอักเสบต่างๆ ของข้อ เกิดจากการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหว และการช่วยตัวเอง ของผู้สูงอายุ การจัดอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม เนื้อสัตว์ต่างๆ ถั่วเมล็ดแห้งและผลไม้ ให้ผู้สูงอายุรับประทานเป็นประจำ เพื่อช่วยบำรุงความแข็งแรงให้แก่กระดูก
จากตัวอย่างของโรค ที่พบในผู้สูงอายุที่กล่าวมา คงทำให้เห็นความสำคัญของโภชนาการ ที่มีผลกระทบต่อผู้สูงอายุ การให้การดูแลในเรื่องอาหารการกิน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหาร ในปริมาณที่มากพอต่อความต้องการของร่างกาย นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ยังช่วยชะลอการเกิดโรค หรือบรรเทาความรุนแรงของโรคได้
รุจิรา สัมมะสุต

แหล่งข้อมูล : www.elib-online.com

แผลกดทับ

แผลกดทับ 1000 667 admin

คุณที่เคยเข้าโรงพยาบาลนานๆ หรือมีญาติผู้ใหญ่ที่มีเหตุให้ต้องนอนอยู่กับที่ อย่างเช่น เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือไม่สบายมากจนไม่มีแรงจะลุกขึ้นจากที่นอน คงจะเคยได้ยินแพทย์หรือพยาบาลเตือน ให้ผู้ดูแลหมั่นพลิกตัวให้บ่อยๆ ไม่ให้จมอยู่กับที่นานๆ เพราะจะเกิดแผลที่เรียกว่า “ แผลกดทับ ” ได้
การจะสังเกตว่าบริเวณไหนที่เริ่มเป็นแผลกดทับ สังเกตได้จากลักษณะดังนี้

  1. เป็นรอยแดงๆ ที่เมื่อกดเบาๆ ตรงนั้นจะไม่เปลี่ยนเป็นสีขาว
  2. ที่ผิวเป็นรอยเหมือนเป็นหลุมปากปล่องภูเขาไฟ
  3. เป็นแผลพุพอง หรือเป็นรอยดำๆ ที่ดูคล้ายแผลตกสะเก็ด

คนที่มีความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ
คืออย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเป็นคนที่อยู่กับที่นิ่งๆ นานๆ ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว โดยเฉพาะในผู้ที่สูงอายุมากๆ ที่เคลื่อนไหวยาก บางคนคิดว่าการเกิดแผลกดทับจะเกิดเฉพาะกับคน ที่มีน้ำหนักตัวมากๆ เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นเสมอไป แผลกดทับไม่จำเป็นต้องเกิดจากแรงกดมากมาย เพียงแต่การนอนแช่ในท่าหนึ่งท่าใดนานๆ ก็เกิดได้แล้ว หรือคนที่นั่งนิ่งๆ อยู่กับเก้าอี้ทั้งวันไม่ค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้เกิดแรงกดดันกับเนื้อเยื่ออ่อนๆ บริเวณก้นหรือสะโพก แล้วจะเกิดเป็นแผลพุพอง เนื้อเยื่อหลุดลอกตามมา
ในกรณีที่นอนแผ่ราบไปกับเบาะที่นอน สมมติว่านอนหงาย การที่จุดใดจุดหนึ่งบริเวณแผ่นหลัง จะต้องเสียดสีกับที่นอนซ้ำแล้วซ้ำอีกก็จะทำให้บริเวณนั้นเป็นแผลพุพองได้ และเมื่อแผลพุพองนั้นแตกออกก็จะกลายเป็นแผลกดทับ หนำซ้ำกับการที่ผู้สูงอายุมักจะมีผิวที่หย่อนยาน เสียความยืดหยุ่น ไปแล้วจึงยิ่งทำให้ไวต่อการเสียดสีเกิดเป็นแผลได้ง่าย หากผิวบริเวณนั้นชื้น เปียกชุ่มเหงื่ออยู่เสมอก็ยิ่งเป็นโอกาสให้เกิดการพุพองง่ายยิ่งขึ้น

ผลที่ตามมาของการเกิดแผลกดทับ
ที่แน่ๆ แม้จะไม่ติดเชื้อก็ย่อมทำให้เกิดความเจ็บ ดังนั้นหากใครที่ดูแลผู้สูงอายุแล้วพบว่าผิวของผู้นั้นมีรอยแดงๆ เริ่มพอง หรือรอยดำๆ คล้ำๆ แล้วควรรีบป้องกันไม่ให้แผลลุกลามเสียแต่เนิ่นๆ อย่างแรกที่ควรทำคือ การปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล หากแผลนั้นเกิดมากแล้วอาจจะมีอันตรายมากถ้าแผลเกิดติดเชื้อขึ้นมา มีโอกาสก่อให้เกิดเลือดเป็นพิษ หรือการติดเชื้อที่ผิวไปจนถึงกระดูกอันเนื่องมาจากแผล แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อระงับเชื้อ และแนะนำวิธีทำความสะอาดตลอดจนการปฐมพยาบาลแผลที่ถูกวิธีให้

การดูแลตัวเอง หรือผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเองไม่ได้เพื่อป้องกันแผลกดทับ

  1. ใช้เบาะที่นอนที่มีแรงดันต่ำ เช่น ที่นอนฟองน้ำ ที่นอนที่ทำจากแผ่นโฟม เตียงน้ำ เตียงลม หรือเตียงที่บุด้วยเนื้อเจล ซึ่งช่วยลดแรงต้านเมื่อมีแรงกดทับจากการนอนหรือนั่ง
  2. ไม่ควรใช้ที่รองนั่งรูปแบบห่วงยาง เพราะจะไปลดการไหลเวียนของเลือดบริเวณผิวหนังในส่วนที่ถัดออกมาจากตรงกลางของห่วง เวลาคนนั่งจมลงไปกลางห่วง
  3. ควรขยับตัวเปลี่ยนท่านอนอย่างน้อยทุกๆ 2 ชั่วโมง เพื่อลดแรงกดดันที่ผิวหนัง ไม่ให้ผิวสัมผัสต้องจมและเสียดสีอยู่กับที่ใดที่หนึ่งนานๆ
  4. หากเป็นไปได้ควรนอนในท่าที่ทำมุมประมาณ 30 องศากับพื้นที่นอน เพื่อหลีกเลี่ยงแรงเสียดสีบริเวณข้อเท้า ส้นเท้า สะโพก และหลังส่วนล่าง
  5. หากเป็นท่านั่ง อาจนั่งทำมุมเอียงๆ เล็กน้อยกับเก้าอี้ เพื่อลดแรงกดดันและเสียดสีบริเวณสะโพก
  6. การรับประทานอาหารที่ครบคุณค่า มีประโยชน์แก่ร่างกาย และดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ บ่อยๆ ต่อวัน เป็นวิธีการที่ช่วยให้แผลเยียวยาตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
  7. หากบริเวณรอยแดงๆ ที่เป็นไม่ยอมหายไปสักทีแม้จะทำตามวิธีป้องกันแล้วก็ตาม หรือผู้ที่เป็นแผลเกิดมีไข้แผลเป็นสีแดงเข้มขึ้น
    เกิดหนอง หรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากแผล มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ มีอาการบวม และเจ็บปวดมากขึ้น อย่างหนึ่งอย่างใดเหล่านี้ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเป็นอาการของการติดเชื้อที่แผลได้

ในการดูแลคนที่เป็นแผลกดทับอย่างนี้ผู้ดูแลควรสวมถุงมืออนามัยที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคมาแล้วทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียมาสู่แผลด้วย

แหล่งข้อมูล : นิตยสาร – HealthToday

เมื่อผู้สูงอายุนอนไม่หลับ

เมื่อผู้สูงอายุนอนไม่หลับ 1000 667 admin

เมื่อเอ่ยถึงความชรา ท่านผู้อ่านคงนึกถึงคนที่มีผมสีดอกเลา เดินหลังค่อมเล็กน้อย ผิวหนังหยาบกร้านและเหี่ยวย่น แต่นั่นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้จากภายนอก มีใครบ้างที่คิดว่าความชรา ยังมีผลกระทบไม่น้อยต่อการเปลี่ยนแปลง ในอวัยวะระบบต่างๆ หนึ่งในอวัยวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนนั้นก็คือ สมอง อวัยวะที่มีน้ำหนักราว 1400 กรัม ในศีรษะของเรานั่นเอง

อาการนอนไม่หลับ ก็เป็นอาการหนึ่งที่เกิดจาก สมองทำงานไม่เป็นปกติ เช่นเดียวกับอาการหมดสติ หรือหลับไม่ยอมตื่น แต่อย่างหลังดูจะทำให้ญาติ หรือคนใกล้ชิดตกใจได้มากกว่า และรีบพาไปพบแพทย์ ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอาการนอนไม่หลับ ญาติมักจะปล่อยปละละเลย บางครั้งผู้ป่วยก็มักจะแก้ปัญหา ด้วยการไปซื้อยานอนหลับมารับประทานเอง ซึ่งยานอนหลับก็เป็นดาบสองคมได้บ่อยๆ ในผู้สูงอายุ จากผลการศึกษาในประชากรผู้สูงอายุพบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปที่อยู่ในชุมชน ได้รับความทนทุกข์ทรมาน ของอาการนอนไม่หลับถึงมากกว่าครึ่ง ยิ่งกว่านั้นอาการนอนไม่หลับ อาจเป็นอาการเตือนของโรคอื่นๆ ทางสมอง ที่สมควรได้รับการตรวจพบและแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินไป ทั้งหมดนี้แสดงถึงขนาดของปัญหานอนไม่หลับ และความรุนแรงของอาการ ที่ถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาสนใจอย่างจริงจัง

สาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ แบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ
1. เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของความชรา
โดยปกติเมื่อมนุษย์เริ่มเข้าสู่วัยชรา สมองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม เหมือนเช่นอวัยวะอื่น โดยลักษณะการนอนของผู้สูงอายุ จะมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • ระยะเวลาของการนอนตอนกลางคืนจะลดลง
  • ใช้เวลานานขึ้นหลังจากเข้านอนเพื่อที่จะหลับ
  • ช่วงระยะที่หลับแบบตื้น (ตอนที่กำลังเคลิ้มแต่ยังไม่หลับสนิท) จะยาวขึ้น ขณะที่ช่วงระยะที่หลับสนิทจริงๆ จะลดลง
  • จะมีการตื่นขึ้นบ่อยๆ กลางดึก

ดังนั้นผู้สูงอายุ แม้จะมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ สมวัย ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองนอนน้อยลง หรือคิดไปว่านอนไม่หลับ แต่มีข้อที่น่าสังเกตคือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้แม้จะดูเหมือนว่า “ นอนไม่หลับ ” แต่ช่วงกลางวันก็มักจะไม่มี อาการง่วงเหงาหาวนอนแต่อย่างใด

2. เกิดเนื่องจากมีโรคที่เป็นพยาธิสภาพซ่อนอยู่ ได้แก่
• จากยาที่ผู้สูงอายุกำลังใช้อยู่
ยาบางประเภท โดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ ในระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการนอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ เช่น การใช้ยานอนหลับนานๆ ยารักษาอาการสั่น เคลื่อนไหวช้าในโรค Pakinsonism หรือบางครั้งอาจเป็นส่วนผสมของยารักษาโรคอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับทางสมองเช่น alcohol ในพวกยาน้ำแก้ไอ หรือ caffeine ที่ผสมในยารักษาโรคหวัด เป็นต้น เมื่อผู้สูงอายุหยุดการใช้ยาเหล่านี้ อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปเอง

• โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ
ผู้สูงอายุที่มีโรคใดก็ตาม ที่ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อยๆ ตอนกลางคืน ก็จะมีผลต่อการนอนด้วย เช่น โรคเบาหวาน จะทำให้ปัสสาวะบ่อยและปริมาณปัสสาวะมาก โรคต่อมลูกหมากโตในผู้สูงอายุชาย โรคไตวายเรื้อรัง หรือแม้แต่การใช้ยาขับปัสสาวะ ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือภาวะหัวใจวาย ก็ทำให้มีปัสสาวะตอนกลางคืนได้บ่อย

• ความเจ็บปวด
ความเจ็บปวดทางกายไม่ว่าจากอวัยวะใด จะมีผลทางอ้อมต่อการนอนหลับในผู้สูงอายุเสมอ ที่พบบ่อยมักเกิดจาก โรคของกระดูกและข้อเสื่อม ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเรื้อรังได้ เช่น ข้อเข้าเสื่อม กระดูกคอเสื่อม เป็นต้น นอกจากนั้นอาการเจ็บปวด อาจเกิดจากอวัยวะภายในช่องท้องเช่น ท้องผูก แน่นท้อง อาการไม่ย่อย เป็นต้น

• โรคสมองเสื่อมและภาวะจิตผิดปกติ
ผู้สูงอายุที่เริ่มมีสมองเสื่อมในระยะแรก จะมีอาการนอนไม่หลับได้ เพิ่มจากอาการขี้หลงขี้ลืม หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนสาเหตุของสมองเสื่อมในผู้สูงอายุไทย มักเกิดจากการอุดตันของเส้นโลหิตในสมอง ที่เกิดซ้ำกันหลายๆ ครั้ง อาจจะมี หรือไม่มีอาการของอัมพาตร่วมด้วยก็ได้
นอกจากนั้น ภาวะซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุของการนอนยากในผู้สูงอายุได้ โดยผู้ป่วยมักจะมีลักษณะที่เข้านอนได้ตามปกติ แต่ตื่นขึ้นกลางดึกเช่น ตี 3-4 แล้วไม่สามารถนอนต่อได้อีก

• อื่นๆ
ผู้สูงอายุบางรายเวลานอนหลับสนิท สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกระตุ้นการหายใจ จะทำงานลดลง ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจได้ชั่วขณะ จากนั้นสมองจะถูกกระตุ้นอีกครั้งอย่างรุนแรง เพื่อให้หายใจ ขณะนั้นผู้ป่วยอาจตื่นขึ้นมาได้ ทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่องได้ หรือบางรายเวลาหลับสนิท ลิ้นในช่องปากจะตกย้อนไปข้างหลัง และอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเสียงกรนขึ้นได้ และถ้าอุดกั้นมากขึ้นถึงกับทำให้อากาศ ไม่สามารถผ่านเข้าหลอดลมและปอด สมองก็จะถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง เพื่อให้ร่างกายพยายามหายใจ ก็ทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นได้อีกเช่นกัน
จากสาเหตุของการนอนหลับ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นว่าผู้ป่วยจำเป็น ต้องได้รับการซักประวัติการเจ็บไข้ได้ป่วย ประวัติการนอน และตรวจร่างกายจากแพทย์โดยละเอียด เพื่อสืบสาวถึงสาเหตุที่แท้จริง ของการนอนไม่หลับในผู้ป่วยแต่ละราย
ในขั้นต้น ผู้สูงอายุที่เริ่มประสบปัญหาการนอนไม่หลับ มีข้อปฏิบัติบางประการ ที่อาจช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ ดังนี้

  • พยายามหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน หรือจำกัดเวลาการนอนกลางวัน ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงในช่วงบ่าย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ , เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ โดยเฉพาะเวลาเย็น เป็นต้น
  • ไม่ควรดื่มน้ำในช่วงเวลา 4-5 ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาเข้านอน ถ้ามีปัญหาปัสสาวะเวลากลางคืนบ่อยๆ
  • เพิ่มกิจกรรมหรือการออกกำลังกาย ในช่วงเวลากลางวันให้มากขึ้น
  • ถ้าผู้สูงอายุไม่มีอาการง่วงนอน เมื่อถึงเวลาเข้านอน และไม่สามารถนอนหลับได้ ก็ควรลุกขึ้นมาหาอะไรทำ ดีกว่าที่จะนอนกลิ้งไปมาบนเตียง
  • กำหนดเวลาอาหารมื้อเย็นให้คงที่สม่ำเสมอ และควรจะเป็นอาหารที่มี protein สูงเมื่อเทียบกับมื้ออื่นๆ
  • พยายามจัดสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอน ให้เงียบและมืดพอสมควร ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
  • ฝึกการทำสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบ

โดยสรุป ผู้สูงอายุมักประสบกับปัญหาการนอนไม่หลับได้บ่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากความชรา มีผลกระทบต่อความเสื่อมของสมอง ผู้สูงอายุโดยทั่วไปจึงควรทำความเข้าใจกับปัญหาที่เป็น “ ปกติ ” ในผู้สูงอายุ และพยายามปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้น และเมื่ออาการนอนไม่หลับยังไม่ดีขึ้น ผู้สูงอายุก็อาจจำเป็นต้องรับ การตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อค้นหาโรคต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุต่อไป

รศ. นพ. ประเสริฐ อัสสันตชัย

แหล่งข้อมูล : www.si.mahidol.ac.th – คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ชะลออัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ

ชะลออัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ 1000 667 admin

โรคอัลไซเมอร์ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1906 โดยนายแพทย์ Alois Alzheimer ชาวเยอรมัน อัลไซเมอร์เกิดจาก การตายของเซลล์ประสาทที่ไม่มีการสร้างเซลล์ใหม่มาทดแทน จึงทำให้เซลล์สมองค่อยๆ เสื่อมลง จนมีผลกระทบต่อการรับรู้ต่างๆ

จากผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี จะพบผู้ที่ทีอาการสมองเสื่อมคิดเป็น 1% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 5 ปี นั่นคือยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเสี่ยงเป็นภาวะสมองเสื่อมยิ่งเพิ่มตาม โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด อาการของโรคจึงค่อยๆ รุนแรงขึ้นตามระยะเวลาการป่วย โรคนี้สามารถเกิดได้ทั้งหญิงและชาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป

อาการทั่วไปของผู้เป็นโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่ ความบกพร่องทางความจำ ความคิดและการใช้เหตุผล เช่น หลงลืมสิ่งของที่ใช้เป็นประจำ นึกคำหรือประโยคที่พูดไม่ออก สับสนเรื่องเวลาและสถานที่ จำบุคคลที่เคยรู้จักหรือคุ้นเคยไม่ได้ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว และสุดท้ายมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านได้อย่างเหมาะสม ทั้งๆ ที่เคยใช้เป็นประจำ ไม่สามารถไปสถานที่ที่คุ้นเคย เป็นต้น

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แน่ชัด มีเพียงปัจจัยที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งนอกจากขึ้นอยู่กับอายุ ก็ยังมีประเด็นของพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยทางพันธุกรรม เป็นสิ่งที่พิสูจน์และมั่นใจไม่ได้ 100% แต่มีรายงานและผลวิจัยต่างๆ ว่า หากคนใกล้ชิดในครอบครัวเป็นโรคอัลไซเมอร์ โอกาสที่คุณจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็มีมากกว่า คนที่ไม่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้ อีกทั้งมีครอบครัวน้อยรายมาก ที่ระบุว่าสมาชิกในครอบครัวรุ่นก่อนๆ เป็นอัลไซเมอร์และถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรมโดยตรงสู่รุ่นต่อมาด้วยสาเหตุที่ยีนเกิดกลายพันธุ์ ซึ่งอาจทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่อายุยังไม่มาก นอกจากนี้สำหรับคนที่เป็นดาวน์ซินโดรม อายุประมาณ 40-50 ปี ก็มักจะเป็นโรคอัลไซเมอร์เช่นกัน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์หาก..

  1. คุณปู่ คุณย่า คุณตาหรือคุณยาย เป็นอัลไซเมอร์เพียงคนเดียว
  2. คุณพ่อคุณแม่ เป็นอัลไซเมอร์เมื่ออายุ 65 ปี
  3. คุณพ่อคุณแม่เคยเป็นโรคเมื่ออายุ 65 ปี และตอนนี้อายุตนเองเลย 65 ปีแล้ว

 ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม หลายปีที่ผ่านมาเกิดความสงสัยและเชื่อว่า อลูมิเนียมอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันอีกต่อไป แต่คนที่ศีรษะเคยได้รับบาดเจ็บหรือโดนกระแทกอย่างแรง มีโอกาสสูงที่จะมีภาวะสมองเสื่อม ยกตัวอย่างเช่น นักชกมวย ที่โดนต่อยบริเวณศีรษะบ่อยและต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนี้คนที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์หนัก ความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวานและโคเลสเตอรอลสูง ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์สูงเช่นกัน

ขั้นตอนในการรักษา 
พญ.สิรินทร ฉันทศิริกาญจน ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ อายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าวว่า การวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้นต้องดูจากประวัติการหลงลืมและความผิดปกติอื่นๆ หากมีลักษณะอาการเด่นชัดก็จะทำการวินิจฉัยขั้นต่อไป หากไม่จะติดตามดูอาการระยะหนึ่ง พร้อมกับตรวจด้วยการเอกซเรย์พิเศษเพื่อดูการใช้ออกซิเจนและการใช้พลังงานของสมอง หลังจากการตรวจสามารถให้ยาเพื่อช่วยชะลอการสูญเสียความจำของผู้ป่วยให้ช้าลง สามารถดูแลตนเองและทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้นานขึ้น ทั้งนี้ไม่สามารถรักษาให้กลับมาจำได้ดีเท่าเดิม

ดังนั้นหากสงสัยว่าคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอาการเช่นนี้ ควรรีบนำมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจ ทดสอบสมรรถภาพของสมอง เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป และที่สำคัญไม่ควรพึ่งยาหม้อ ยาสมุนไพร หรือเกจิอาจารย์ต่างๆ มิฉะนั้นจากเดิมที่อาการไม่รุนแรง จะกลายเป็นมากขึ้น ก่อให้เกิดความทุกข์ต่อตัวผู้ป่วยและคนดูแล

วิธีลดปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ 
แม้ว่าโรคอัลไซเมอร์จะรักษาไม่หาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีแนวทางป้องกัน ซึ่งมีรายงานจากต่างประเทศอ้างว่า การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยผู้ทำการวิจัยและทดลองคือ ดอกเตอร์ อีริค บี ลาร์สัน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพในซีแอตเติล ดอกเตอร์อีริคได้ทำการทดลองตั้งแต่ปีค.ศ. 1994 ถึง ค.ศ. 2003 โดยการเลือกชายหญิงอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 1,740 คน ซึ่งมีรูปร่าง สภาวะทางจิตใจและการดำเนินชีวิตหลากหลาย แต่ทุกคนไม่มีอาการของโรคหรือได้รับการรักษา ณ ขณะนั้น

ทุกๆ 2 ปี ทางดอกเตอร์อีริคและคณะจะสัมภาษณ์กลุ่มผู้สูงอายุนี้ทีละคน เพื่อประเมินกิจกรรมที่ปฏิบัติต่อสัปดาห์ เช่น การเดิน การยืน การออกแรงกำสิ่งของ การทรงตัว ความจำ สมาธิ การสูบบุหรี่ การดื่มและการรับประทานอาหาร และจากการศึกษาตลอดพบว่า ผู้สูงอายุที่ออกกำลังกายเป็นประจำตั้งแต่เริ่มการทดลอง ด้วยการเดิน 15 นาทีต่อ 1 วัน สัปดาห์ละ 3 ครั้ง สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ถึง 32% เมื่อเทียบกับคนที่ออกกำลังกายน้อยกว่านั้น

สุดท้ายดอกเตอร์อีริคกล่าวเพิ่มเติมจากผลการทดลองนี้ว่า น่าจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้คนอื่นๆ หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์แล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการเผาผลาญออกซิเจนให้เป็นพลังงานแก่ร่างกาย ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ชะลอความแก่ชราได้หากเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย

แหล่งข้อมูล : นิตยสาร – HealthToday

อาการปวดเมื่อยในผู้สูงอายุ

อาการปวดเมื่อยในผู้สูงอายุ 600 400 admin

เวลาไปโรงพยาบาลเคยสังเกตกันบ้างไหมคะว่า แผนกใดที่มีคนมารอพบแพทย์มากที่สุดรองลงมาจากแผนกอายุรกรรม ดิฉันคิดว่าน่าจะเป็นแผนกศัลยกรรม-กระดูก ซึ่งมีคนมารอกันอย่างหนาแน่น เผลอๆ ต้องนั่งรอกันครึ่งค่อนวันกว่าจะได้ตรวจ แน่นอนที่คนส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงวัย บ้างก็เดินกระย่องกระแย่งใช้ไม้เท้าช่วย บ้างก็นั่งรถเข็น เห็นแล้วก็คิดได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังขารที่ร่วงโรยไปตามวัย แต่อาการปวดที่ตามมานี่สิที่ทำใจยอมรับยาก ทำให้รู้สึกเห็นใจผู้สูงอายุมาก

โดยส่วนใหญ่อาการปวดเมื่อยในผู้สูงอายุจะเป็นกันมากบริเวณ หลัง คอ เอว น่อง และข้อต่างๆ ฯลฯ เรียกได้ว่าแทบจะปวดเมื่อยไปทั้งตัว ซึ่งอาการปวดเมื่อยที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดเมื่อยล้าที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อ…ซึ่งมักจะบอกตำแหน่งเจาะจงไม่ชัด ปวดจากเส้นเอ็น…จะปวดมากหากถูกกดทับหรือขยับตัวเคลื่อนไหว พบบ่อยบริเวณไหล่ บริเวณมือ ส้นเท้า และเอ็นร้อยหวาย ปวดจากเส้นประสาทถูกกดทับ…มักมีอาการชา ปวดแสบปวดร้อน ร้าวไปตามเส้นประสาท เช่น ถ้าเกิดการกดทับที่เส้นประสาทหลังจะปวดร้าวลงไปถึงน่องและปลายเท้า หรือบริเวณคอเมื่อเส้นประสาทถูกทับจะปวดร้าวลงไปที่แขนและมือ นอกจากนี้ยังมีการปวดเมื่อยเนื่องจากเส้นเลือดขอด…พบบ่อยบริเวณขาเมื่อต้องยืนนานๆ อาการปวดจากข้อต่อต่างๆ… เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ถ้ามีการลงน้ำหนักก็จะปวด เดินก็ปวด พับหรืองอก็ปวด และอาจมีบวมแดงร่วมด้วย

นอกจากนั้นสาเหตุของอาการปวดเมื่อยนี้ยังมาจาก

  1. เริ่มมีการอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณรอบๆ ข้อ แล้วไม่ยอมใช้ส่วนนั้นนานๆ เพราะกลัวเจ็บ
  2. ยกของหนักเกินไป และยกในท่าที่ไม่ถูกต้อง ทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาด อักเสบหรือปวดได้
  3. เกิดจากการนอน เช่น นอนหนุนหมอนที่สูงเกินไป ที่นอนนิ่มไป นอนตะแคงแล้วศีรษะห้อยลง หรือบิดทำให้ปวดต้นคอ ปวดหลัง
  4. การปล่อยตัวให้อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น นั่ง ยืน เดิน ศีรษะงุ้มไปด้านหน้า เงยมากเกินไปหรือเอนไปด้านใดด้านหนึ่งนานๆ ทำให้รู้สึกปวดเมื่อย
  5. เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น การหกล้ม ถูกกระแทกแรงๆ ทำให้กระดูกหัก กล้ามเนื้อฉีกขาดหรือเกิดการอักเสบ ทำให้ปวดเมื่อยได้
  6. เกิดจากโรคบางโรค เช่น โรคเกาต์ รูมาตอยด์ การขาดสารอาหารประเภท ฯลฯ

สรุปอาการปวดเมื่อยเรื้อรังของผู้สูงอายุว่าเป็นที่ใดกันมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นการปวดหลัง เอวที่เกิดขึ้นตามวัยเพราะข้อรับน้ำหนักตัวมากเกินไปหรือมีการบาดเจ็บ ทำให้กระดูกอ่อนตรงผิวข้อต่อสึกกร่อน และมีกระดูกงอก เพราะมีหินปูนมาเกาะขรุขระ เวลาเคลื่อนไหวจึงทำให้ปวดได้ และถ้าเป็นโรคกระดูกพรุนก็จะทำให้กระดูกเกิดการทรุดตัว โดยเฉพาะกระดูกไขสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกคอ อาการปวดส่วนหลังนี้จะทรมานมาก เพราะคนเราต้องใช้ขาเดินไปไหนมาไหน หากเดินแล้วเจ็บ คงรู้สึกอึดอัดและลำบากพอสมควร ดังนั้นในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกหลังเสื่อม แพทย์จึงแนะนำให้ใช้ ผ้า support ช่วยพยุงแผ่นหลัง ในบางคนการใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวเดินก็จะลดการรับน้ำหนักของกระดูกลงไปได้บ้าง ส่วนการปวดข้อมักจะปวดมากเวลาเปลี่ยนท่า นั่ง ยืน การขึ้นลงบันได หรือมักปวดตอนกลางคืน ปวดเวลาที่อากาศเย็นชื้น หรืออากาศเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีอาการปวดเนื่องจากการทำกิจวัตรประจำวันด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น

  1. นั่งหลังค่อมเกินไป เนื่องจากก้มหน้ามากเกินเวลานั่งอ่านหนังสือ หรือนั่งทำงานที่โต๊ะ จึงทำให้บริเวณอกค่อมลง
  2. การเดินแอ่นหลังบริเวณช่องท้องมากเกินไป โดยเฉพาะคนอ้วนลงพุงที่เวลาเดินต้องแอ่น เพื่อดึงพุงซึ่งย้อยตกลงข้างหน้าตลอดเวลา
  3. แบกของหนักเกินไป จนทำให้ข้อกระดูกสันหลังรับน้ำหนักมากจนโก่ง รวมถึงการก้มหลังยกของหนักเกินไป

โดยอาการเหล่านี้ส่งผลทำให้เอ็น และกล้ามเนื้อบริเวณหลังต้องออกแรงยืดหดมากไป ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า จนทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ในที่สุด หากเทียบกับคนหนุ่มสาวที่บางครั้งทำกิจวัตรประจำวันด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน แต่ไม่มีอาการปวดหลังก็เพราะเอ็นและกล้ามเนื้อยังอยู่ในสภาพที่แข็งแรงจึงทนได้ แต่ผู้สูงอายุตรงกันข้าม ทั้งเอ็นและกล้ามเนื้อเริ่มเสื่อมสภาพ จึงปวดเมื่อยได้ง่าย หากอาการปวดไม่รุนแรงก็จะปวดแบบเมื่อยล้าทั่วๆ ไป อยากบิดตัวและเปลี่ยนท่าทางอยู่เสมอ แต่หากปวดมากขึ้นก็ต้องหายามาทาน อาการปวดจึงจะหายไป บางรายเป็นมากและเฉียบพลัน ทั้งปวดหลัง รู้สึกหลังแข็งขนาดกระดุกกระดิกไม่ได้ต้องนอนนิ่งๆ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ทรมานกับการปวดหลังแล้ว ก็ควรหาทางป้องกันง่ายๆ ดังนี้

  1. พยายามเดิน-นั่ง หรือปรับอิริยาบถต่างๆ ให้อยู่ในท่าทางที่ถูกต้องเสมอ ที่สำคัญนั่ง-เดิน ให้หลังตรง
  2. ผู้สูงอายุอย่าก้มหลังลงเพื่อยกของหนักเด็ดขาด และอย่าแบกหรือยกของหนักเกินสมควร
  3. สำรวจที่นอนว่าต้องไม่นุ่ม หรือแข็งจนเกินไป เพราะที่นอนที่นุ่มเกิน เมื่อนอนหงายหลังจะโก่ง และจะทำให้ปวดหลัง ส่วนที่นอนที่แข็งเกินไปจะทำให้เจ็บบริเวณกระดูกที่นูนออกมา เนื่องจากโดนกดทับเป็นเวลานาน
  4. หากรู้สึกปวดเมื่อยหลังเล็กน้อย ให้เอากระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่ปวดวันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 10-20 นาทีทุกวัน ประมาณ 5-6 วัน อาการจะดีขึ้น แต่หากปวดมากให้ไปพบแพทย์

นอกจากนี้ ยังมีการปวดข้อต่างๆ ที่ผู้สูงวัยเป็นกันมาก เนื่องจากข้อเสื่อมและกระดูกพรุนซึ่งมักเกิดกับข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเข่า พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากเป็นผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ขาดไป สาเหตุของโรคกระดูกพรุน อีกทั้งขาดการออกกำลังกายในวัยหนุ่มสาว พอเริ่มอายุมากน้ำหนักก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้เข่าต้องแบกน้ำหนักส่วนเกิน กล้ามเนื้อจึงหย่อนสมรรถภาพลง จึงทำให้เป็นโรคเข่าเสื่อมได้ง่าย โดยร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนให้เรารู้ว่าเข่ากำลังมีปัญหาจาก…

  1. การเจ็บปวด ซึ่งแรกๆ จะปวดไม่มาก รู้สึกเพียงขัดๆ ตำแหน่งที่ปวดก็ไม่ชัดเจนว่าปวดที่ใดแน่ รู้แต่ว่าปวดที่เข่า แต่ยังเดินไปไหนมาไหนได้ อาการจะปวดมากขึ้นเมื่อใช้เข่ามาก แต่จะรู้สึกสบายเมื่อได้พัก ระยะนี้จะไม่มีอาการกดเจ็บที่ใด และไม่มีอาการบวมให้เห็น หากทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการดุแล หรือยังคงได้รับแรงกระแทกหรือน้ำหนักมากอยู่เช่นเดิม อาการปวดก็จะเพิ่มมากขึ้นจนเดินไม่ได้
  2. อาการเข่าบวม มักพบเมื่อเข่าเสื่อมมาก และได้รับการกระทบกระเทือนสูง เข่าจะบวมอย่างเห็นได้ชัดและปวดที่หัวเข่ามากขึ้น อาการบวมจะเป็นๆ หายๆ หากได้รับการรักษาอาการบวมก็จะดีขึ้น แต่พอใช้งานเข่ามากขึ้นก็จะบวมอีก
  3. เข่าอ่อนหรือเข่าฝืด มักเป็นในระยะแรกๆ ที่เข่ายังไม่บวม เวลานั่งแล้วจะลุกขึ้นไม่ได้ เพราะเข่าอ่อนและเหยียดไม่ออก จะต้องค่อยๆ พยุงตัวขึ้นช้าๆ ก่อนจึงจะลุกขึ้นได้ อาการดังกล่าวจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายบางรายเข่าจะผิดรูป เข่าโก่งเหมือนก้ามปู

อย่างไรก็ตาม อาการข้อเสื่อมนี้ ก็ใช่ว่าจะป้องกันไม่ได้ซะทีเดียว ที่สำคัญไม่ควรปล่อยให้เป็นมากแล้วค่อยไปหาทางรักษา เพราะจะรักษายาก โดยทำตามคำแนะนำดังนี้

  1. ระวังอย่าให้อ้วน หรือน้ำหนักมากเกินปกติ โดยดูจากความสมดุลระหว่างน้ำหนักและความสูง
  2. ระวังอย่าให้หัวเข่าได้รับแรงกระแทกมากเกินไป เช่น การกระโดดโลดเต้น ดังนั้นคนที่เข่าเสื่อมไม่ควรออกกำลังกายโดยการวิ่งหรือกระโดดเชือก แต่พยายามออกกำลังเข่าที่ให้กล้ามเนื้อและเอ็นรอบเข่าแข็งแรง เช่น การเดินในท่าปกติก็เป็นการออกกำลังเข่าที่ดีอย่างหนึ่ง
  3. อย่าให้เข่าต้องอยู่ในภาวะกดพับนานเกินไป เช่น การนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ และนั่งยอง
  4. เมื่ออายุมากขึ้น

ไม่ว่าใครก็ไม่อยากแก่ และเจ็บป่วยทั้งนั้น แต่เนื่องจากไม่สามารถฝืนกฎธรรมชาติได้ ดังนั้นเราก็ได้แต่ดูแลรักษาร่างกายตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ พร้อมป้องกันและรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดในวันข้างหน้า เพราะหากจะเป็น ก็ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ร่วมสร้างสุขภาพที่ดี และเอาใจใส่ตัวเองเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ร่างกายทำหน้าที่ได้ดี และอยู่กับเราไปอีกนานๆ

แหล่งข้อมูล : นิตยสาร – HealthToday

เมื่อผู้สูงอายุอาเจียน

เมื่อผู้สูงอายุอาเจียน 800 533 admin

การอาเจียน (Vomiting) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีความ-ผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร โดยจะมีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน เป็นกันได้ทุกวัย ทั้งในเด็ก คนวัยหนุ่มสาว และคนสูงอายุ ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้ต้องการ การดูแลมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นวัยที่อ่อนแอ เปราะบาง และส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัวทางอายุรกรรมร่วมด้วย
ตามปกติแล้วสาเหตุที่พบได้บ่อยที่ทำให้เกิดอาการอาเจียน คือการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาจจะเกิดการติดเชื้อได้ตั้งแต่ในกระเพาะอาหารจนถึงลำไส้ใหญ่ ซึ่งต่อไปนี้มักจะเป็นสาเหตุของการอาเจียนที่พบบ่อย

  1. อาหารเป็นพิษจากการมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน ซึ่งอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย
  2. การรับประทานอาหารในหน้าร้อนนี้ จึงควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ
  3. โรคกระเพาะ หรือกระเพาะอาหารอักเสบ
  4. อาเจียนจากการไอมากๆ
  5. เกิดการอุดตันในลำไส้
  6. เกิดจากโรคบางโรค
  7. อาเจียนหลังจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
  8. เป็นผลข้างเคียงของยาบางชนิด หรือแพ้ยา ซึ่งควรกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้จ่ายยาหรือพบแพทย์ประจำตัว
  9. เมาพาหนะ เช่น เมารถ เมาเรือ
  10. อยู่ท่ามกลางอากาศร้อนมาก
  11. เกี่ยวเนื่องจากระบบประสาท เช่น มีความเครียดมาก ตื่นเต้น หรืออยู่ในภาวะกดดัน

การอาเจียนยังเป็นอาการของโรคอื่นๆ อีกหลายๆ โรค เช่น โรคที่เกี่ยวกับสมอง ตับ ไต รวมถึงโรคมะเร็งด้วย ซึ่งหากเป็นมากกว่า 1 ครั้ง ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเกิดอาเจียนจำเป็นจะต้องระมัดระวังเรื่องของอาการ ขาดน้ำ (dehydration) เป็นสำคัญ โดยเฉพาะในคนอ่อนแออย่างคน สูงอายุ ซึ่งเมื่อมีอาการขาดน้ำและอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้ต้องรีบพาไปพบแพทย์

  1. รอบดวงตาคล้ำ
  2. ปากแห้ง
  3. ปัสสาวะน้อยลง
  4. ผิวหนังแห้งและไม่ดีดตัวกลับเมื่อคุณหยิกหรือจิกลงไประหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้
  5. รู้สึกเวียนงง และสับสน
  6. มีไข้สูงกว่า 101 ํ F นานกว่า 24 ชั่วโมง
  7. ความดันโลหิตสูงขึ้นหรือลดลงอย่างมาก
  8. อ่อนเพลียมาก
  9. อาเจียนมากไม่หยุด และปวดท้องรุนแรง
  10. อาเจียนในขณะที่เป็นเบาหวาน
  11. ผิวซีดเหลือง รวมทั้งตาขาวเป็นสีเหลืองด้วย
  12. อาเจียนเป็นเลือด หรือสีเหมือนน้ำกาแฟ

แต่ในกรณีที่มีสาเหตุที่ไม่รุนแรงหรือได้รับการวินิจฉัยรักษาจากแพทย์แล้ว หลังจากมีอาการดีขึ้นแล้วลูกหลานหรือผู้ดูแลควรให้การดูแลผู้สูงอายุดังนี้

  1. ให้งดรับประทานอาหารใดๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อให้กระเพาะได้พัก แต่ให้ค่อยๆ จิบน้ำเปล่าได้ เมื่อไม่มีอาการคลื่นไส้
  2. เมื่อหายจากอาการคลื่นไส้ให้เริ่มต้นด้วยอาหารอ่อนๆ เช่น ซุปใส เยลลี่ น้ำโซดาเปล่าๆ แต่อย่าดื่มเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม
  3. ในวันต่อมาให้รับประทานอาหารอ่อนนุ่ม เช่น ข้าวต้ม กล้วยสุก ซุป และควรรับประทานในปริมาณน้อย แต่บ่อยครั้ง ลองดูว่ากระเพาะรับได้หรือไม่ อย่ารับประทานครั้งและมากๆ
  4. พักผ่อนให้มากๆ ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก อากาศเย็นสบาย
  5. อย่าดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
  6. หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ บุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โคคา-โคล่า เพราะจะระคายเคืองกระเพาะอาหาร
  7. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง

การอาเจียนเป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติที่เกิดขึ้น จึงอย่าชะล่าใจโดยเฉพาะในผู้สูงวัย ดูแลใส่ใจท่านอย่างใกล้ชิด แม้หายอาเจียนแล้วก็ยังต้องคอยดูอาการต่อไปอีกระยะหนึ่ง

แหล่งข้อมูล : นิตยสาร – HealthToday

เมื่อผู้สูงอายุเป็นไข้

เมื่อผู้สูงอายุเป็นไข้ 1000 667 admin

ร่างกายคนเรามีอุณหภูมิปกติอยู่ที่ค่าเฉลี่ยประมาณ 37 องศาเซลเซียส หรือ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์ อย่างที่ว่าเป็นค่าเฉลี่ย ดังนั้นแต่ละคนอาจมีอุณภูมิร่างกายสูงหรือต่ำกว่านี้ได้เล็กน้อย ในแต่ละวันอุณหภูมิของเราอาจขึ้นๆ ลงๆ ได้เล็กน้อยตามแต่ช่วงเวลา อย่างเช่น หากวัดปรอทตอนเช้าๆ อาจวัดได้สัก 97.5 F มาวัดอีกทีตอนบ่ายอาจวัดได้เป็น 99.5 F ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด แต่สำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่นั้น จะมีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อยเป็นธรรมดาอยู่แล้ว

แต่เมื่อเกิดอาการไข้ขึ้น อุณหภูมิของร่างกายมักจะขึ้นสูงเกินกว่า 99.5 F เป็นสัญญาณว่าร่างกายของเรากำลังต่อสู้กับการติดเชื้ออะไรบางอย่างอยู่ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งแบบเบาๆ และหนักหนาอย่างเช่น การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ โดยทั่วไปหากอุณหภูมิยังไม่สูงเกิน 101 F แพทย์ก็มักจะไม่วิตกมากนัก ต้องรีบวินิจฉัยและหาทางเยียวยารักษาโดยด่วน

แต่ธรรมดาในผู้สูงอายุนั้น เวลาเจ็บป่วยมักจะไม่ค่อยแสดงออกด้วยการมีไข้ขึ้นสูงมากแบบสมัยเป็นหนุ่มสาว สมมติว่าเป็นไข้หวัดหนักหนาประมาณเดียวกัน แต่ในเด็กหรือหนุ่มสาวอาจแสดงออกด้วยอาการไข้ขึ้นสูงมาก ขณะที่ผู้สูงอายุมีอุณหภูมิเปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อาการไข้จึงคล้ายสัญญาณไซเรนเตือนภัยเวลาเราเจ็บป่วย ผู้สูงอายุจึงไม่ควรชะล่าใจเมื่อเกิดอาการผิดปกติกับร่างกาย แต่ไม่ได้มีไข้ หากเมื่อไหร่ที่รู้สึกผิดปกติ อย่างเช่น มีอาการปวดหัว มึนงง นอนไม่หลับ ร้อนๆ หนาวๆ ท้องอืด กินอาหารไม่ลง หอบมากกว่าปกติ หรือรู้สึกสับสนแม้จะไม่มีไข้ ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ให้วินิจฉัยโดยเร็ว

หากท่านไหนมีโรคประจำตัว คือโรคหัวใจ หรือโรคเกี่ยวกับปอดก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง และสังเกตอาการไข้ของตัวเอง เพราะ หากไข้ขึ้นสูงกว่า 101 F ก็อาจทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายต้องทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งค่อนข้างอันตราย นำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้

ข้อแนะนำในการดูแลผู้สูงอายุเมื่อมีไข้

  1. หากไข้ขึ้นสูงน้อยกว่า 101 F น้อยกว่า 3 วันติดกันโดยไม่มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย ก็อาจรักษาตัวเองได้โดยการเช็ดตัว และให้รับประทานยาแอสไพริน หรือ พาราเซตามอล (โดยปรึกษาแพทย์เสียก่อนเกี่ยวกับการใช้ยาเหล่านี้ที่เหมาะสมกับแต่ละคน)
  2. ดื่นน้ำเปล่ามากๆ ประมาณวันละ 10 แก้ว ไม่ควรดื่มเหล้าหรือแอลกอฮอล์ เพราะการเป็นไข้ทำให้ร่างกายเสียเหงื่อ จึงอาจเกิดอาการขาดน้ำได้ จึงควรดื่มน้ำมากๆ ทดแทน
  3. หากมีอาการไข้ ร่วมกับการเจ็บคอ ปวดในหู ไอบ่อยๆ หรือ เป็นไข้แล้วมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์
  4. หากเป็นไข้พร้อมกับอาการหวัด เช่น น้ำมูกไหล คัดจมูก ปวดเมื่อยเนื้อตัว ไอ แต่เมื่อวัดปรอทแล้วยังต่ำกว่า 101 F ก็อาจรักษาตัวเองโดยวิธีบรรเทาหวัดแบบทั่วไป แต่หากเป็นไข้ติดต่อกันนานเกิน 3 วันไม่หายสักทีควรปรึกษาแพทย

แต่หากเกิดอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

  1. หากเป็นไข้ พร้อมกับอาการสั่นเทิ้ม รู้สึกหนาว หรือเป็นไข้พร้อมกับปวดหลัง หรือปวดเวลาขับปัสสาวะ และมีอาการปัสสาวะไม่สุด (อันอาจเกิดมาจากการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ)
  2. หากมีไข้สูงมากกว่า 101 F
  3. เป็นไข้ ร่วมกับภาวะสับสน งุนงง อย่างฉับพลันทันด่วน
  4. เป็นไข้ ร่วมกับอาการคอแข็ง
  5. มีอาการปวดที่ท้องน้อย และเป็นไข้นานติดต่อกันเกินกว่า 2 ชั่วโมง

 อาการไข้ร่วมกับภาวะผิดปกติต่างๆ ในผู้สูงอายุเหล่านี้ หากสังเกตและตระหนักรู้ได้เร็ว รีบไปพบแพทย์ จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยอาการและหาทางเยียวยารักษาได้แต่เนิ่นๆ ดังนั้นท่านผู้สูงอายุเอง หรือผู้ดูแลก็ควรคอยสังเกตอาการให้ดี เมื่อไรที่มีไข้ก็อย่าลืมใช้ปรอทคอยวัดอุณหภูมิของร่างกายเป็นระยะๆ เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกาย

แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday

Back to top